จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การแก้ปัญหาความขัดแย้ง







จากสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่าทุกท่านคงทราบดีว่า เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง (Structural Conflict) ที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการใช้อำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interest Conflict) ที่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กัน ประกอบกับความขัดแย้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายต่างมีความเป็นห่วงกันว่าจะเป็นการทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างหนัก และจะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด การยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีจึงเป็นแนวทางที่กล่าวถึงกันเยอะ


             อย่างไรก็ดีการทำความเข้าใจในพฤติกรรมความขัดแย้ง (Conflict Behavior) จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจรากของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ความขัดแย้งจะเกิดจาก บริบทของความเป็นปัจเจกของบุคคลแต่ละคน และบริบทของโครงสร้าง ดังนั้นการพิจารณาถึงพฤติกรรมความขัดแย้งแย้งนั้นจะต้องพิจารณาถึงทั้งสองด้าน เพราะถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งอาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในที่สุด


             สำหรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้นจะเริ่มจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารแล้วแสดงออกโต้ตอบกันไปมาจนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (Spiral of Conflict) ที่ต่างคนต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้กัน โดยจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน เอาชนะคะคานกัน หรือ ที่เรียกว่า ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (Destructive Conflict) ส่วนทางออกของความขัดแย้งนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างเลือก ซึ่งพฤติกรรมเพื่อหาทางออกเมือเกิดความขัดแย้งนั้นใน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้จำแนกออกเป็น (หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 180 - 182)


             * การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing or My Way): พฤติกรรมแนวนี้จะยึดถือความพยายามที่จะเอาชนะ มักจะเป็นวิธีการของผู้ที่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น


             * การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding or No Way): เป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกัน


             * การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising or Half War): เป็นวิธีที่ประสานการร่วมมืออย่างหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การเดินสายกลาง


             * การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating or Your Way): เป็นพฤติกรรมที่สังคมชอบปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์สูง มีความต้องการที่จะผลักดันความพยายามของตนเองน้อย ยอมรับแนวความคิดของคนอื่นโดยยกเลิกความต้องการของตนเอง คือ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสิน หรือคำสั่ง


             * การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating or Our Way): เป็นพฤติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหาทางบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์


             ส่วนกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งสามารถนำเสนอได้ตามตารางที่ 1 โดยผลของการตัดสินใจที่เป็นลักษณะ ชนะ-ชนะ (Win-Win) จะเกิดจาก การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง และ การเจรจาไกล่เกลี่ย





ตารางที่ 1 กระบวนการตัดสินใจแก้ปัญหาข้อพิพาทและผลแห่งการตัดสินใจ
ที่มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 150


กระบวนการที่ใช้
(Process)
ผู้ตัดสิน
(Decision-Making)
ผลการตัดสินใจ
(Result)
- ใช้ความรุนแรง (Violence/Fight)- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเผชิญหน้าประท้วงอย่างสันติ
(Non-Violence Direct Action or Civil Disobedience)
- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การบัญญัติกฎหมาย (Legislation)- สภานิติบัญญัติ (The Legislature)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การฟ้องร้อง (Litigation)- ศาล (The Court)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน (Arbitration)- อนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การหลีกหนีปัญหา (Avoidance/Fight) -- คงสภาพเดิม (Status quo)




             จากตารางที่ 1 จะพบถ้าคู่พิพาทเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาผลที่ได้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรงจะช่วยยุติความขัดแย้งได้ เช่น การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ฯ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ เพราะต้องการให้สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกยุติโดยเร็ว และลดการสูญเสียนาวิกโยธินของตนเองในการขึ้นยึดเกาะญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงมักจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เช่น ยุทธการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ของสหรัฐ ฯ ที่นำกำลังบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า บินลาดิน และล้มล้างรัฐบาลตอลีบาน ซึ่งสหรัฐ ฯ สามารถล้มล้างตอลีบานได้แต่ ความขัดแย้งยังไม่ได้ยุติ เพราะทุกวันนี้สหรัฐ ฯ ต้องคงกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐ ฯ เองก็ยังมีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ ยุทธการปลดปล่อยชาวอิรัก (Operation Iraqi Freedom) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามอ่าวภาค 2 ที่สหรัฐ ฯ ยุติสงครามลงภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในอิรักตลอดเวลาจนมาถึงทุกวันนี้


             ถึงตรงนี้คงมีคำถามตามมาว่าแล้ว “อะไรคือสันติวิธี” ดร.มาร์ค ตามไท ได้กล่าวถึงสันติวิธีไว้ว่า “สันติวิธีนั้นมีอยู่สองลักษณะคือ สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” (อ้างถึงในหนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 101 - 103) โดยมีรายละเอียดดังนี้


             * สันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (Peaceful Demonstrate/Protest): แนวทางในการต่อสู้นี้เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ เมื่อ เกิดความไม่พอใจหรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ที่มีอำนาจ มีการดำเนินการในลักษณะของการประท้วง หรือ การเรียกร้อง หรือการต่อสู้โดยการยื่นหนังสือขอเข้าพบ หรือ การชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดย สงบ สันติ ไม่มีอาวุธ การต่อสู้ในแนวทางนี้จะมีชื่อเรียกกันว่า “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางทีมีต้นแบบจากแนวทางการต่อสู่แบบ “อหิงสา” ของ มหาตมคานธี ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย


             * สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Peaceful Conflict Resolution): สำหรับแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาหลักจากที่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว และพยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการใช้แนวทางที่สันติ ซึ่งแนวทางที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) กันเองระหว่างคู่พิพาท หรือ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (เป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) ช่วยในกระบวนการไกล่เกลี่ยและไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินชีขาดแต่จะเป็นผู้กำกับการเจรจาให้ดำเนินไปได้อันจะนำไปสู่ทางออก คือการยุติความขัดแย้ง


             จากที่กล่าวมาจะพบว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ย และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพราะผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ


             * การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้จะเป็นการเจรจาที่จะเอาแพ้ชนะเอาชนะกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง คู่เจรจาจะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นศัตรูกัน ความเชื่อของการเจรจานี้จะเป็นลักษณะ Zero Sum Game ตามแนวคิดในทฤษฏีเกม (Game Theory) ที่ถ้าไม่แพ้ก็ต้องชนะ ผลของการเจรจาเช่นนี้มักยอมรับครึ่งทาง (Compromise) แต่การเจรจาในลักษณะนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งในนโยบายสาธารณะ


             * การเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ (Interest-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้ไม่มองถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จะมองและทำความเข้าใจของความต้องการ ความห่วงกังวลของฝ่ายอื่น การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดจากคู่เจรจาทุกฝ่ายมาร่วมกัน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันโดยหวังให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการตอบสนอง ทุกฝ่ายจะไม่ระบุถึงจุดยืนของตนเอง แต่จะบอกถึง ความหวัง ความต้องการ ความห่วงกังวล ความหวาดระแวง


สำหรับตารางที่ 2 จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก


ตารางที่ 2 แตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก
ที่มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 174
การเจรจาโดยจุดยืนการเจรจาโดยยึดถือผลประโยชน์เป็นหลัก
- ให้ได้ส่วนแบ่งที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด- ได้ความพึงพอใจจากทุกฝ่าย
- เป็นผลลัพธ์แบบ แพ้-ชนะ- พยายามที่จะทำให้บรรลุต่อความต้องการของทุกฝ่าย
- เกิดความสัมพันธ์แบบปฏิปักษ์- ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง- มองหาจุดที่เห็น หรือมีประโยชน์
- พยายามยามเปิดเผยของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันพยายามที่จะปกปิดของเราและทำให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจผิด- แบ่งปันข้อมูลและช่วยกันสร้างทางเลือกเพื่อให้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
- ผู้มีส่วนเพื่อข้องจะเริ่มต้นที่ การตั้งความต้องการไว้สูง และเปลี่ยนจุดยืนอย่างลังเล- มุ่งผลประโยชน์ร่วมไม่ใช่จุดยืม
- ใช้การคุกคาม ถกเถียงในการให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี- ใช้เหตุผลและประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหา




             การทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งและการยุติด้วยสันติวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยมีการแตกแยกทางความติดอย่างนี้มาก่อน ดังนั้นถ้าแกนนำของแต่ละฝ่ายมองไปยังผลประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บุคคลทุกภาคส่วนต่างหากคือผู้ที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) นั้นไม่อาจละเลยสิทธิของเสียงส่วนน้อย (Minority Right) ได้ ถ้าทุกคนหันหน้าเข้าหากันแล้วทุกอย่างคงจะดีขึ้น สำหรับผมแล้วผมเชื่อในกฎแห่งกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คงจะช่วยลงโทษคนที่คิดร้ายต่อประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนไทยที่เกิดบนแผ่นดินไทยแล้วคดโกง คิดมิดีมิร้ายต่อแผ่นดินเกิดแล้ว ผมเชื่อว่าคงมีอันเป็นไปไม่ช้าก็เร็ว 


            สถานการณ์ในปัจจุบันคิดว่าหลายท่านคงเห็นตรงกันว่า ประเทศชาติมีความวุ่นวาย สับสน และยังไร้ทิศทาง หลายคนคิดว่าประเทศไทยกำลังจะเงยหัวขึ้น ซึ่งอย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่เกิดจาก คน เท่านั้นที่สร้างความวุ่นวาย เราทราบกับดีว่าความวุ่นวายล้วนเกิดจากกิเลสของคน ความโลภ ปรารถนาในทรัพย์สินและอำนาจที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้คนต่าง ๆ เกิดพฤติกรรมที่ละโมบในทรัพย์สิน เงินทอง และอำนาจ แต่ทรัพยากรที่มีจำกัดบนโลกใบนี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความขัดแย้ง” (Conflict)


          ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม รัฐ ไปจนถึงระดับโลก และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกทางแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความรุนแรง และนำไปสู่ความเสียหายหรือสูญเสียในที่สุด ดังนั้นการทำความเข้าในเรื่องของความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรา ๆ ท่านยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ นอกจากคำว่าความขัดแย้งแล้ว ยังมีอีกคำคือ “ข้อพิพาท” (Dispute) ที่มักจะใช้ในความหมายแทน โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” (สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 9) ว่า “คำว่า ความขัดแย้ง (Conflict) และข้อพิพาท (Dispute) เป็นคำที่ใช้สลับไปมากันได้ แต่ในบางกรณีจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไปว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องของความเห็น หรือความชื่อที่ต่างกัน แต่คู่กรณียังสามารถทำงานร่วมกันได้ คู่สมรสยังอยู่ด้วยกันได้ปกติสุข แต่เมื่อขยายกลายเป็นข้อพิพาทจะกลายเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องมุ่งหมายที่จะเอาชนะให้ได้เพื่อเป้าหมายสูงสุดของตัวเอง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องไป”


          ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ โดยเป็นความขัดแย้งบางชนิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถหาทางออกได้จนกลายไปเป็นข้อพิพาท และจำนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ซึ่งความรุนแรงนั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่ การใช้คำพูด ภาษาท่าทาง จนถึงการลงมือทำร้ายกัน ซึ่งจะมีความสูญเสียตามมา ทั้งทรัพย์สิน เวลา ความรู้สึก จนกระทั่งการสูญเสียอำนาจอธิปไตย ถ้าเป็นความขัดแย้งในกรอบใหญ่คือระหว่างรัฐกับรัฐ นอกจากนี้ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ยังได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “เราไม่อาจจะห้ามไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้ได้ แต่เราอาจจะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงไม่นำไปสู่ทางตัน และสามารถที่จะสร้างกระบวนการ แก้ปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาททั้งหลายนั้นได้”


          สำหรับการเกิดความขัดแย้งนั้นจะมีการพัฒนาการ โดย  ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้กล่าวถึงใน หนังสือ “ความรู้เบื้องต้นกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เหมาะสม” (สถาบันพระปกเกล้า, 2545) เกี่ยวกับพัฒนาการของความขัดแย้ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่


          1. ความขัดแย้งแฝง (Latent Conflicts): ระยะนี้เป็นระยะของข้อพิพาทที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ยังไม่ขยายตัวจนเกิดการแบ่งขั้วของผู้ขัดแย้ง


         2. ความขัดแย้งกำลังเกิด (Emerging Conflicts): เป็นระยะที่พัฒนาขึ้นมาจากระยะแรก คือได้เกิดฝ่ายต่าง ๆ ขึ้น โดยรับรู้ว่ามีข้อพิพาทขึ้น แต่ยังไม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือกระบวนการแก้ปัญหาเกิดขึ้น


          3. ความขัดแย้งที่ปรากฏออกมาแล้ว (Manifest Conflicts): ระยะนี้เป็นระยะที่ความขัดแย้งได้พัฒนาไปเป็นข้อพิพาทที่ชัดเจน มีการดำเนินการตามบทบาทที่ตัวเองเกี่ยวข้อง รวมถึงอาจมีการเจรจาไกล่เกลี่ย หรืออาจถึงทางตันหาทางออกไม่ได้


          ส่วนรูปแบบของความขัดแย้งนั้นจะสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่


          1. ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict): เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมีข้อมูลมาหรือน้อยเกินไปทำให้การประมวลผลมีความผิดพลาด มีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันในปัญหาเรื่องเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง


          2. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict): การมีทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำกัดบนโลกนี้ล้วนแต่ส่งผลให้ ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะครอบครองผลประโยชน์ต่าง ๆ ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผลประโยชน์


          3. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict): ความขัดแย้งประเภทนี้เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ การใช้อำนาจ การแย่งชิงอำนาจ การกระจายอำนาจ และรวมไปถึง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ


          4. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict): เป็นความขัดแย้งที่เกิดจาก อารมณ์ ความรุนแรง และพฤติกรรมต่าง ๆ อันนำมาซึ่งความเข้าใจผิด โดยปัญหาหลักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการสื่อสารที่บกพร่อง


          5. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict): ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจาก ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติ ที่แต่ละคนได้รับการหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กจนเป็นผู้ใหญ่



ชนิดของความขัดแย้ง
สาเหตุ

ตัวอย่าง
1. ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict)- ขาดข้อมูล
- ข้อมูลผิดพลาด
- มุมมองที่ต่างกันว่าข้อมูลจะเป็นอะไร
- การแปลผลข้อมูลที่แตกต่างของการเก็บและศึกษาข้อมูล
- ท่อก๊าซมีความหนาแน่นไม่เท่ากันและที่ต้องหนากว่าในเขตชุมชนเมือง เพราะถ้าก๊าซรั่วคนตายมาก (ซึ่งเป็นข้อมูลที่อธิบายไม่ถูกต้อง)
- ปะการังที่บริเวณหินกรูดยังมีสภาพดีหรือเสื่อมโทรมไปแล้ว
2. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict)- เนื้อหา (เงินทองทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมเวลา)
- วิธีการ (ปัญหาด้านกริยามรรยาทถูกนำมาพูดถกเถียง)
- เกี่ยวกับจิตใจ (มุมมองในความเชื่อ ความยุติธรรม หรือความนับถือ)
- ผู้นำเสนอโครงการน่าจะสร้างสะพานเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคม
- ผู้เสนอได้ทำการปรึกษาหารืออย่างรอบคอบทั่งถึงหรือไม่
- เรารู้สึกว่าเราเพียงต้องการขอโทษต่อสาธารณชนเท่านั้นเพื่อเราจะได้หยุดประท้วง
3. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict)- ทรัพยากรที่หายาก
- เวลา
- ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
- อำนาจ/หน้าที่
- การตัดสินใจ
- การกระจายอำนาจกับการสงวนอำนาจ
- กฎหมายป่าชุมชนกับกฎหมายป่าสงวน
4. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict)- อารมณ์ที่รุนแรง
- การรับรู้คลาดเคลื่อน
- ทัศนคติตายตัว
- การสื่อสารไม่ดี
- การสื่อสารผิดพลาด
- ความประพฤติเชิงลบซ้ำซาก
-เดี๋ยวนี้ หมอมองอะไร พูดอะไร เป็นเงินทองไปหมด (ความสัมพันธ์ ชิงธุรกิจ)
- ฉันเลือกเขาเป็น ส.ส.ก็หวังพึ่งพาอาศัย แต่พอไปหาที่บ้านเห็นแต่ป้าย “สุนัขดุ”
5. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict)- ความเชื่อที่ไม่ลงลอยกันไม่ว่าจะเป็นภาพจริงหรือภาพจากการรับรู้
- ระบบค่านิยมที่แตกต่างกัน
- ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการทำแท้งเป็นการทำผิดบัญชาของพระเจ้า อีกฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำได้เพราะเป็นสิทธิสตรี
- ไม่ควรทำเหมืองใต้ดินเพราะอาจเกิดเหตุเหมือนเรื่องผาแดงนางไอ่


รูปที่ 1.1 แสดงถึงชนิดของความขัดแย้ง
ที่มา: ดัดแปลงจากหนังสือ “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา”, ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 14-15




          ในปัจจุบันความขัดแย้งในสังคม นั้นส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามในการที่จะพัฒนารัฐ ให้มีความเจริญให้มีความทันสมัย (Modernization) ทำให้ส่งผลกระทบกลับมายังสังคม สิ่งแวดล้อมประชากร จนเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นความขัดแย้งในนโยบายสารธารณะจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งต่อไปนี้
(Modernization)


          1. ความสลับซับซ้อนในการพัฒนา: การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งตามธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในปริมาณที่มากตาม ความซับซ้อนในการพัฒนาจึงมากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่าง ๆ จึงมีความขัดแย้งกับผู้ที่พัฒนาหรือออกนโยบาย


          2. การบริหารจัดการรูปแบบเดิมที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ : แนวความคิดในการบริหารงาน หรือบริหารประเทศ ทั่วไปในปัจจุบันมักจะกระทำในรูปแบบเดิม ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โดยมีลักษณะที่ผู้มีอำนาจในการสั่งการเป็นผู้ที่พัฒนากระบวนการในการตัดสินใจ แล้วสั่งการลงไปยังผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดจากบนล่าง ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้ง


          3. ข้อมูลข่าวสารที่มากมายแลรวดเร็ว: ในยุคสารสนเทศที่การบริการและการเข้าถึงอย่างมากมายและรวดเร็วทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างหลากหลาย และใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา


          4. กระบวนทัศน์ของประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลง: นวัตกรรมทางเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปด้วความง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงระบอบการเมือง โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ซึ่งแต่เดิมนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะเป็นระบอบการปกครองที่เน้นหรือมีวัตถุประสงค์ที่เน้นในเสียงส่วนใหญ่  (Majority Rule) ที่เลือกสมาชิกของสังคมขึ้นเป็นตัวแทน แล้วให้ตัวแทนเหล่านั้นตัดสินใจแทน แต่ในปัจจุบันเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนส่วนน้อย (Minority Rights) โดยสิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อคนส่วนน้อยรัฐในฐานะผู้ที่ใช้อำนาจจะต้องระมัดระวัง และสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุเช่นนี้เอง ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่เกิดตามมา เพราะความไม่ลงตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม


          5. การใช้แนวความคิดในเรื่องของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรและการจัดการลูกค้าสัมพันธ์: ในแนวความคิดของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร (Integrated Communication Marketing: IMC) นั้นเป็นแนวความคิดของการตลาดใหม่ที่เน้นการโฆษณาผ่านสื่อทุกประเภทโดยมีความสอดคล้องกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความคล้อยตาม และผู้ขายจะเน้นแต่ด้านบวกของผลิตภัณฑ์ตนเอง ประกอบการการเน้นในเรื่องของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management: CRM) ทำให้ลูกค้ามีสิทธิ์มีเสียงในการต่อรองกับผู้ขายและผู้ผลิต ผลที่ตามมาคือ เมื่อลูกค้าเจอสินค้าและบริการในด้านลบ หรือ สินค้าและบริการนั้นไม่เป็นไปตามที่โฆษณาแล้วก็จะเกิดการร้องเรียน อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง


         6. การบังคับใช้กฎหมาย: ปัญหาช่องว่างในสังคม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือที่ปัจจุบันเรานิยมเรียกว่าคอร์รัปชั่น นั้นส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในสังคม


          จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้นส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะเป็น “ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง” (Structural Conflict) โดย ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (อ้างถึงใน “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา”, ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 24-25) ได้กล่าวถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่า “เป็นเรื่องของช่องว่าระหว่างสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหรือศักยภาพของมนุษย์ (Potentiality) และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Actuality) ซึ่งยิ่งห่างก็จะยิ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากขึ้นเท่านั้น


          ปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองมีความร้อนแรง จนสามารถกล่าวได้ว่าสังคมกำลังมีความขัดแข้ง ซึ่งความขัดแย้งนี้สามารถนำไปสู่การพิพาท ที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง โดยมีความขัดแย้งสองประเภทหลักผสมผสานกันคือ ความขัดแย้งด้านโครงสร้างและความขัดแย้งจากผลประโยชน์ การดำเนินการต่าง ๆ ของผู้แสดงแต่ละท่าน (Actor) ที่เกี่ยวข้องล้วนแต่มีส่วนทำให้สถานการณ์คลี่คลายหรือแตกหัก การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นกลางและรากหญ้าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยจะได้ผลกระทบและเป็นรอยร้าวในสังคมที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการสมานฉันท์ ให้กลับมาเป็นดังเดิม ความเสียสละของผู้แสดงแต่ละท่านล้วนแต่จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม แต่ถ้าผู้แสดงแต่ละท่านไม่ยอมลดราวาศอกให้กันแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีของให้ท่าน ๆ ทั้งหลายเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งมากว่าผลปรโยชน์ของตนและพวกพ้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น