จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความหลากหลาย-DIVERSITY


ความหมายของชาติพันธุ์
คำว่า "ชาติพันธุ์" และ "ชาติพันธุ์วิทยา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทยการทำความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์จำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติ อาจเปรียบเทียบเชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ได้ดังนี้
เชื้อชาติ (race) คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่ม เชื้อชาติ (racial group) มักแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid) โพลินีเชียน (Polynesian) ฯลฯ อีกด้วย
การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกันและประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก
สัญชาติ (nationality) คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึงการเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง
ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos) คือ การมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีนลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมมีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกันความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า "สำนึก" ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์
ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ จะส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้ถ้าเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ พอจะสรุปได้ 5 ลักษณะ คือ
1. เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น
ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้นและคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุด จะถือเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น จัณฑาลในอินเดีย เอทาหรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมระบุว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ ถือว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจและไม่ควรอยู่ร่วมสังคมกับสมาชิกส่วนใหญ่ ได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมนั้น เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบัน ทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกชนชั้นจัณฑาลและบูราคู แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการกีดกันอยู่ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนี้ ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทางชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง
2. เกิดจากการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์
กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่นชาวเขา มักจะถูกตัดขาดจากสังคมพื้นราบ โดยไม่ได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากคนพื้นราบในส่วนกลาง การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับรัฐบาลไทยจึงไม่ค่อยมีปัญหา
3. เกิดจากการผนวกดินแดน
การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือเกิดจากการขยายดินแดงหลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญา เรียกว่า "Louisiana Purchase" ในปี ค.ศ. ๑๘๐๓ หรือการที่สหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้านและฝ่ายที่ชนะสามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้น คือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย ทวาราวดีศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้
4. เกิดจากการย้ายถิ่น
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ
5. เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศอาณานิคม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ กรณี ทั้งนี้ เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจในการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆนานา ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจประเทศมหาอำนาจมักจะจับจองที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองไปเป็นกรรมกรในไร่นา มีผลทำให้คนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมได้ อย่างกรณีประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินเกือบร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ ๕ เท่านั้น

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: cultural diversity) เป็นความเชื่อที่ค่อนตรงกันให้หมู่นักมานุษยวิทยาว่ามนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 2 ล้านมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน
แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิดขึ้นตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวลมนุษยชาติด้วย นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้
บทอภิปรายนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ประการแรก เช่นเดียวกับความน่าเชื่อของการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ยังคงเป็นสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการทดสอบซึ่งอาจไม่มีความชอบธรรมทางจรรยาบรรณที่จะอนุรักษ์ "สังคมที่ยังพัฒนาน้อย" ไว้เพราะอาจเป็นการห้ามผู้คนในสังคมนั้นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ที่สร้างความสะดวกสบายและสวัสดิภาพแก่ "สังคมพัฒนาแล้ว" ประการสุดท้าย มีชนหลายหมู่โดยเฉพาะที่หมู่ชนมีความเชื่อทางศาสนาอย่างแรงกล้า ที่เชื่อว่าศาสนานั้นคือสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตัวบุคคลและมวลมนุษย์โดยรวม ดังนั้นจึงควรมุ่งติดอยู่กับรูปแบบการดำรงชีวิตเพียงแบบเดียวที่หมู่ชนนั้นๆ เห็นว่าถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การสอนศาสนา "ฟันดาเมนทอลลิสต์อีแวนเจลิสต์" เช่น "นิวไทรบ์มิสชัน" ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยการเลือกสังคมชนเผ่าที่อยู่ห่างไกล จับพวกชนเผ่าเหล่านั้นเข้ารีตกับความเชื่อของพวกเขาเองแล้วโน้มนำให้ชนเผ่าเหล่านั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมของตนเองตามหลักการของพวกเขาเอง
การแจงนับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตัวบ่งชี้ที่นับได้ว่าใช้ได้ดีตัวหนึ่งคือการนับจำนวนภาษาที่ใช้พูดในภูมิภาคนั้น หรือในโลกโดยรวม วิธีการนี้ จะช่วยให้มองเห็นระยะของการถดถอยที่รวดเร็วขึ้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก งานวิจัยที่ทำเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2524-2533) โดยเดวิด คริสทัล (ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ บังกอร์) เสนอแนะในขณะนั้นว่า โดยเฉลี่ยในทุกสองสัปดาห์จะมีภาษาหนึ่งภาษาที่ถูกเลิกใช้ไป คริสทัลคำนวณว่า ถ้าการตายของภาษาอยู่ในอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึง พ.ศ. 2643 ภาษาที่ใช้พูดในโลกปัจจุบันจะสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 90
ประชากรที่มากเกินไป การย้ายถิ่นและจักรวรรดินิยม (ทั้งทางการทหารและเชิงวัฒนธรรม) คือสาเหตุที่นำมาใช้อธิบายการลดถอยของจำนวนภาษาดังกล่าว
มีองค์การนานาชาติหลายองค์การที่กำลังพยายามทำงานเพื่อปกป้องการคุกคามดังกล่าวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงหน่วยงาน "สืบชีวิตนานาชาติ" (Survival International) และยูเนสโกได้ออก "ประกาศสากลยูเนสโกว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) โดยได้รับการยอมรับโดยประเทศสมาชิก 185 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ยอมรับให้มีการกำหนดมาตรฐานนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพิทักษ์รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทโต้ตอบระหว่างวัฒนธรรม
สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายแห่งความป็นเลิศ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่มีความหลากหลาย" (Sustainable Development in a Diverse World -SUS.DIV) SUS.DIV สร้างขึ้นด้วยประกาศยูเนสโกที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาแบบยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น