จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


กิจกรรม การเรียนรู้ที่ 10  การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผลการเรียนรู้
1.       มีรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองโลก การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความเป็นธรรมในสังคม ค่านิยมและสภาพการณ์ การพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิมนุษย์ชน การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และความหลากหลาย
2.       คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความจริงใกล้ตัว และสถานการณ์โลกปัจจุบัน
3.       เลือกประเด็นและเชื่อมโยงเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นกับระดับโลกในภาพกว้าง
ความคิดรวบยอด
การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังน้อยที่สุด
กิจกรรม
1.       แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาอย่างยั่งยืน

                    การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือ การพัฒนาที่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง ราบรื่น โดยไม่เกิดสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนานั้นเอง

                    เนื่องจากทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน ต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออนาคต การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหานี้ โดยการพยายามอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในลักษณะที่เป็นส่วนรวมหรือมหภาค คือ หากมีความจำเป็นที่จะดำเนินการให้กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ เป็นการชดเชยเพื่อให้ในแง่มหภาคของคุณภาพสิ่งแวดล้อมคงอยู่ได้ดังเดิม 

2.       หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
แนวทางการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตและการสั่งสมความมั่งคั่งตามแนวของตะวันตกมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเดินทางมาถึงทางตัน ซึ่งแสดงออกเป็นวิกฤติที่ปะทุกลายเป็นวิกฤติโลกได้แก่ 1) วิกฤติความยากจน ที่ประชากรราวครึ่งโลกต้องเผชิญชะตากรรมอย่างยากจะดิ้นหลุด ไม่เว้นแต่ในประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นสาเหตุสำคัญของความไม่มั่นคงไร้เสถียรภาพในสังคมและโลก ตลอดจนการก่อการร้ายต่างๆ 2) วิกฤติช่องว่างในสังคม ช่องว่าระหว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้นรวมถึงช่องว่างระหว่างประเทศ ทำให้ความปรองดอง ความไว้วางใจกันลดลง ก่อให้เกิดการผูกขาด การเก็งกำไร ระบบเศรษฐกิจและการเงินปั่นป่วน 3) วิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆมีความสามารถในการผลักดันการพัฒนาและการให้บริการสาธารณะที่จำเป็นลดลง 4) วิกฤติสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาที่สำคัญได้แก่ปัญหาโลกร้อน ดินเสื่อม การสูญเสียป่าไม้ แหล่งประมงและความหลากหลายทางชีวภาพ 5) วิกฤติพลังงาน น้ำมันซึ่งเป็นพลังงานหลักร่อยหรอลงไปมาก ด้านการผลิตคาดว่าจะสูงสุดในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะก่อให้ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลก และอาจนำไปสู่สงครามแย่งชิงน้ำมันที่รุนแรง 6) วิกฤติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นทางออกและเครื่องมือแก้ปัญหาทั้งปวงของมนุษย์ กลับกลายเป็นตัวก่อวิกฤติเสียเองเช่น เทคโนโลยีทางทหารที่สามารถฆ่าผู้คนและทำลายสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมอย่างร้ายแรง 7) วิกฤติจริยธรรมและจิตวิญญาณ แสดงออกที่ความละโมบ การใฝ่อำนาจและความรุนแรง การบริโภคล้น การเพลิดเพลินในอบายมุข ความเหงาซึมเศร้า
3.       วิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความจริงใกล้ตัวและสถานการณ์ปัจจุบัน

วิกฤติการพัฒนาดังที่กล่าวมาข้างต้น นำไปสู่การแสวงหาทางออกของการพัฒนา โดยในทศวรรษที่ 1970 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ชื่อว่า Club of Rome ได้เผยแพร่หนังสือที่สำคัญชื่อ ความจำกัดของความเติบโต (Limit to Growth) ที่แสดงให้เห็นว่าความเติบโตที่ต่อเนื่องมานั้นมีความจำกัด ต่อมาใน ค.ศ. 1972 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมนุษย์เป็นครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮล์ม ส่งผลให้มีการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดลล้อมสหประชาติขึ้นมา (United Nations Environment Programme – UNEP) และเกิดองค์กรเอกชนขึ้นมากมาย เพื่อทำการเคลื่อนไหวกระตุ้นให้สังคมเห็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม จนขยายสู่สังคมอย่างกว้างขวาง และในทศวรรษ 1980 แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงปรากฏขึ้นมา  และในช่วงนี้ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆได้เติบโตขึ้น มีการผลักดันให้หลายรัฐบาลออกกฏหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผลสำเร็จที่สำคัญได้แก่ ในปี ค.ศ. 1987  ได้มีพิธีสารมอลทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ มีหลายประเทศลงนามว่าด้วยการลดเลิกผลิตสารซีเอฟซี(Chrorofluorocarbons) และในปีเดียวกัน ได้มีรายงาน บรันด์แลนด์ (Brandland Report) กล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก โดยให้ความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าเป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ยอมให้คนรุ่นต่อไป ต้องสูญเสียความสามารถในการสนองความต้องการตน
ในทศวรรษ 1990 ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้กลายเป็นระเบียบวาระโลก ในปี ค.ศ. 1992 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit) ขึ้นเพื่อถถปัญหาสำคัญด้านโลกร้อน ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญทำให้รัฐบาลทุกประเทศกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยต้องไปจัดทำแผนปฏิบัติการเรียกว่า AGENDA 21 ซึ่งคล้ายแผนแม่บทสำหรับปฏิบัติการทั่วโลกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการประชุมครั้งนี้ได้รับการมองว่าเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของรัฐแต่ละรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งการป้องกันความเปลี่ยนแปลงของอากาศและการทำลายอย่างถอนรากถอนโคนของความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสกุลต่างๆ โดยมีตัวแทนตัวประเทศกว่า 150 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในสัตยาบันนี้

4.       ประเด็นและเชื่อมโยงเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นกับระดับโลกในภาพกว้าง

ดังนั้นการวิเคราะห์วาทกรรมจึงเป็นการพยายามเปิดโปงหรือเปิดเผยให้เห็นถึงฐานะความเป็นวาทกรรมของสรรพสิ่งต่างๆที่ดำรงอยู่ในสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวาทกรรมหรือระบบของอำนาจ ระบบการผลิต/สร้างและการเก็บกด ปิดกั้นที่ยิ่งใหญ่ วาทกรรมเป็นเรื่องของระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง

เมื่อวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วจะพบว่า ความโดดเด่นของวาทกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ที่สามารถทำให้สิ่งที่ขัดแย้งกัน สิ่งที่ดูเหมือนไปกันไม่ได้ในอดีตนั่นคือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบและราบรื่น โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสามารถสลายความเชื่อ ความหวาดวิตกที่มองว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดำรงอยู่จะนำไปสู่การล่มสลายของโลกไปได้   แม้ว่าวาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืน จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนสามารถทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาระดับโลก นำไปสู่การเป็นวาระการประชุมระดับโลกแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าวาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืนสามารถลดทอนความรุนแรงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกลงได้อย่างเฉียบพลันสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าบรรดาพลังและกระบวนการในการทำลายล้างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างก็ดำรงอยู่ มิได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาการทำให้เป็นอุตสาหกรรม รวมถึงลัทธิบริโภคนิยมในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างขาดความรับผิดชอบ ดังนั้นคำนิยามว่าด้วยการพัฒนาแบบยั่งยืนจึงเป็นเพียงการเพิ่มเติมคำว่า อย่างยั่งยืน ต่อท้ายคำว่า การพัฒนาเท่านั้น เพื่อทำให้สิ่งที่เรียกว่า การพัฒนา ยังดำรงอยู่ต่อไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเพียงรูปแบบใหม่ของการพัฒนาเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น