จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การแก้ปัญหาความขัดแย้ง







จากสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่าทุกท่านคงทราบดีว่า เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง (Structural Conflict) ที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการใช้อำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interest Conflict) ที่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กัน ประกอบกับความขัดแย้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายต่างมีความเป็นห่วงกันว่าจะเป็นการทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างหนัก และจะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด การยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีจึงเป็นแนวทางที่กล่าวถึงกันเยอะ


             อย่างไรก็ดีการทำความเข้าใจในพฤติกรรมความขัดแย้ง (Conflict Behavior) จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจรากของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ความขัดแย้งจะเกิดจาก บริบทของความเป็นปัจเจกของบุคคลแต่ละคน และบริบทของโครงสร้าง ดังนั้นการพิจารณาถึงพฤติกรรมความขัดแย้งแย้งนั้นจะต้องพิจารณาถึงทั้งสองด้าน เพราะถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งอาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในที่สุด


             สำหรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้นจะเริ่มจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารแล้วแสดงออกโต้ตอบกันไปมาจนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (Spiral of Conflict) ที่ต่างคนต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้กัน โดยจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน เอาชนะคะคานกัน หรือ ที่เรียกว่า ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (Destructive Conflict) ส่วนทางออกของความขัดแย้งนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างเลือก ซึ่งพฤติกรรมเพื่อหาทางออกเมือเกิดความขัดแย้งนั้นใน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้จำแนกออกเป็น (หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 180 - 182)


             * การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing or My Way): พฤติกรรมแนวนี้จะยึดถือความพยายามที่จะเอาชนะ มักจะเป็นวิธีการของผู้ที่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น


             * การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding or No Way): เป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกัน


             * การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising or Half War): เป็นวิธีที่ประสานการร่วมมืออย่างหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การเดินสายกลาง


             * การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating or Your Way): เป็นพฤติกรรมที่สังคมชอบปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์สูง มีความต้องการที่จะผลักดันความพยายามของตนเองน้อย ยอมรับแนวความคิดของคนอื่นโดยยกเลิกความต้องการของตนเอง คือ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสิน หรือคำสั่ง


             * การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating or Our Way): เป็นพฤติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหาทางบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์


             ส่วนกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งสามารถนำเสนอได้ตามตารางที่ 1 โดยผลของการตัดสินใจที่เป็นลักษณะ ชนะ-ชนะ (Win-Win) จะเกิดจาก การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง และ การเจรจาไกล่เกลี่ย





ตารางที่ 1 กระบวนการตัดสินใจแก้ปัญหาข้อพิพาทและผลแห่งการตัดสินใจ
ที่มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 150


กระบวนการที่ใช้
(Process)
ผู้ตัดสิน
(Decision-Making)
ผลการตัดสินใจ
(Result)
- ใช้ความรุนแรง (Violence/Fight)- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเผชิญหน้าประท้วงอย่างสันติ
(Non-Violence Direct Action or Civil Disobedience)
- ผู้ชนะ (The Winner)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การบัญญัติกฎหมาย (Legislation)- สภานิติบัญญัติ (The Legislature)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การฟ้องร้อง (Litigation)- ศาล (The Court)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน (Arbitration)- อนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)- แพ้-ชนะ (Win-Loose)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง (Mediation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation)- คู่กรณี (The Parties)- ชนะ-ชนะ (Win-Win)
- ใช้การหลีกหนีปัญหา (Avoidance/Fight) -- คงสภาพเดิม (Status quo)




             จากตารางที่ 1 จะพบถ้าคู่พิพาทเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาผลที่ได้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรงจะช่วยยุติความขัดแย้งได้ เช่น การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ฯ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ เพราะต้องการให้สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกยุติโดยเร็ว และลดการสูญเสียนาวิกโยธินของตนเองในการขึ้นยึดเกาะญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงมักจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เช่น ยุทธการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ของสหรัฐ ฯ ที่นำกำลังบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า บินลาดิน และล้มล้างรัฐบาลตอลีบาน ซึ่งสหรัฐ ฯ สามารถล้มล้างตอลีบานได้แต่ ความขัดแย้งยังไม่ได้ยุติ เพราะทุกวันนี้สหรัฐ ฯ ต้องคงกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐ ฯ เองก็ยังมีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ ยุทธการปลดปล่อยชาวอิรัก (Operation Iraqi Freedom) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามอ่าวภาค 2 ที่สหรัฐ ฯ ยุติสงครามลงภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในอิรักตลอดเวลาจนมาถึงทุกวันนี้


             ถึงตรงนี้คงมีคำถามตามมาว่าแล้ว “อะไรคือสันติวิธี” ดร.มาร์ค ตามไท ได้กล่าวถึงสันติวิธีไว้ว่า “สันติวิธีนั้นมีอยู่สองลักษณะคือ สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” (อ้างถึงในหนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 101 - 103) โดยมีรายละเอียดดังนี้


             * สันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (Peaceful Demonstrate/Protest): แนวทางในการต่อสู้นี้เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ เมื่อ เกิดความไม่พอใจหรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ที่มีอำนาจ มีการดำเนินการในลักษณะของการประท้วง หรือ การเรียกร้อง หรือการต่อสู้โดยการยื่นหนังสือขอเข้าพบ หรือ การชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดย สงบ สันติ ไม่มีอาวุธ การต่อสู้ในแนวทางนี้จะมีชื่อเรียกกันว่า “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางทีมีต้นแบบจากแนวทางการต่อสู่แบบ “อหิงสา” ของ มหาตมคานธี ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย


             * สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Peaceful Conflict Resolution): สำหรับแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาหลักจากที่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว และพยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการใช้แนวทางที่สันติ ซึ่งแนวทางที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) กันเองระหว่างคู่พิพาท หรือ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (เป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) ช่วยในกระบวนการไกล่เกลี่ยและไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินชีขาดแต่จะเป็นผู้กำกับการเจรจาให้ดำเนินไปได้อันจะนำไปสู่ทางออก คือการยุติความขัดแย้ง


             จากที่กล่าวมาจะพบว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ย และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพราะผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ


             * การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้จะเป็นการเจรจาที่จะเอาแพ้ชนะเอาชนะกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง คู่เจรจาจะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นศัตรูกัน ความเชื่อของการเจรจานี้จะเป็นลักษณะ Zero Sum Game ตามแนวคิดในทฤษฏีเกม (Game Theory) ที่ถ้าไม่แพ้ก็ต้องชนะ ผลของการเจรจาเช่นนี้มักยอมรับครึ่งทาง (Compromise) แต่การเจรจาในลักษณะนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งในนโยบายสาธารณะ


             * การเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ (Interest-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้ไม่มองถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จะมองและทำความเข้าใจของความต้องการ ความห่วงกังวลของฝ่ายอื่น การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดจากคู่เจรจาทุกฝ่ายมาร่วมกัน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันโดยหวังให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการตอบสนอง ทุกฝ่ายจะไม่ระบุถึงจุดยืนของตนเอง แต่จะบอกถึง ความหวัง ความต้องการ ความห่วงกังวล ความหวาดระแวง


สำหรับตารางที่ 2 จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก


ตารางที่ 2 แตกต่างระหว่างการเจรจายึดจุดยืนและการเจรจาโดยยึดผลประโยชน์เป็นหลัก
ที่มา: หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 174
การเจรจาโดยจุดยืนการเจรจาโดยยึดถือผลประโยชน์เป็นหลัก
- ให้ได้ส่วนแบ่งที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด- ได้ความพึงพอใจจากทุกฝ่าย
- เป็นผลลัพธ์แบบ แพ้-ชนะ- พยายามที่จะทำให้บรรลุต่อความต้องการของทุกฝ่าย
- เกิดความสัมพันธ์แบบปฏิปักษ์- ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง- มองหาจุดที่เห็น หรือมีประโยชน์
- พยายามยามเปิดเผยของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันพยายามที่จะปกปิดของเราและทำให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจผิด- แบ่งปันข้อมูลและช่วยกันสร้างทางเลือกเพื่อให้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
- ผู้มีส่วนเพื่อข้องจะเริ่มต้นที่ การตั้งความต้องการไว้สูง และเปลี่ยนจุดยืนอย่างลังเล- มุ่งผลประโยชน์ร่วมไม่ใช่จุดยืม
- ใช้การคุกคาม ถกเถียงในการให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี- ใช้เหตุผลและประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหา




             การทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งและการยุติด้วยสันติวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยมีการแตกแยกทางความติดอย่างนี้มาก่อน ดังนั้นถ้าแกนนำของแต่ละฝ่ายมองไปยังผลประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บุคคลทุกภาคส่วนต่างหากคือผู้ที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule) นั้นไม่อาจละเลยสิทธิของเสียงส่วนน้อย (Minority Right) ได้ ถ้าทุกคนหันหน้าเข้าหากันแล้วทุกอย่างคงจะดีขึ้น สำหรับผมแล้วผมเชื่อในกฎแห่งกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คงจะช่วยลงโทษคนที่คิดร้ายต่อประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนไทยที่เกิดบนแผ่นดินไทยแล้วคดโกง คิดมิดีมิร้ายต่อแผ่นดินเกิดแล้ว ผมเชื่อว่าคงมีอันเป็นไปไม่ช้าก็เร็ว 


            สถานการณ์ในปัจจุบันคิดว่าหลายท่านคงเห็นตรงกันว่า ประเทศชาติมีความวุ่นวาย สับสน และยังไร้ทิศทาง หลายคนคิดว่าประเทศไทยกำลังจะเงยหัวขึ้น ซึ่งอย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่เกิดจาก คน เท่านั้นที่สร้างความวุ่นวาย เราทราบกับดีว่าความวุ่นวายล้วนเกิดจากกิเลสของคน ความโลภ ปรารถนาในทรัพย์สินและอำนาจที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้คนต่าง ๆ เกิดพฤติกรรมที่ละโมบในทรัพย์สิน เงินทอง และอำนาจ แต่ทรัพยากรที่มีจำกัดบนโลกใบนี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความขัดแย้ง” (Conflict)


          ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม รัฐ ไปจนถึงระดับโลก และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกทางแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความรุนแรง และนำไปสู่ความเสียหายหรือสูญเสียในที่สุด ดังนั้นการทำความเข้าในเรื่องของความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรา ๆ ท่านยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ นอกจากคำว่าความขัดแย้งแล้ว ยังมีอีกคำคือ “ข้อพิพาท” (Dispute) ที่มักจะใช้ในความหมายแทน โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” (สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 9) ว่า “คำว่า ความขัดแย้ง (Conflict) และข้อพิพาท (Dispute) เป็นคำที่ใช้สลับไปมากันได้ แต่ในบางกรณีจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไปว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องของความเห็น หรือความชื่อที่ต่างกัน แต่คู่กรณียังสามารถทำงานร่วมกันได้ คู่สมรสยังอยู่ด้วยกันได้ปกติสุข แต่เมื่อขยายกลายเป็นข้อพิพาทจะกลายเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องมุ่งหมายที่จะเอาชนะให้ได้เพื่อเป้าหมายสูงสุดของตัวเอง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องไป”


          ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ โดยเป็นความขัดแย้งบางชนิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถหาทางออกได้จนกลายไปเป็นข้อพิพาท และจำนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ซึ่งความรุนแรงนั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่ การใช้คำพูด ภาษาท่าทาง จนถึงการลงมือทำร้ายกัน ซึ่งจะมีความสูญเสียตามมา ทั้งทรัพย์สิน เวลา ความรู้สึก จนกระทั่งการสูญเสียอำนาจอธิปไตย ถ้าเป็นความขัดแย้งในกรอบใหญ่คือระหว่างรัฐกับรัฐ นอกจากนี้ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ยังได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “เราไม่อาจจะห้ามไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้ได้ แต่เราอาจจะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงไม่นำไปสู่ทางตัน และสามารถที่จะสร้างกระบวนการ แก้ปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาททั้งหลายนั้นได้”


          สำหรับการเกิดความขัดแย้งนั้นจะมีการพัฒนาการ โดย  ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้กล่าวถึงใน หนังสือ “ความรู้เบื้องต้นกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เหมาะสม” (สถาบันพระปกเกล้า, 2545) เกี่ยวกับพัฒนาการของความขัดแย้ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่


          1. ความขัดแย้งแฝง (Latent Conflicts): ระยะนี้เป็นระยะของข้อพิพาทที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ยังไม่ขยายตัวจนเกิดการแบ่งขั้วของผู้ขัดแย้ง


         2. ความขัดแย้งกำลังเกิด (Emerging Conflicts): เป็นระยะที่พัฒนาขึ้นมาจากระยะแรก คือได้เกิดฝ่ายต่าง ๆ ขึ้น โดยรับรู้ว่ามีข้อพิพาทขึ้น แต่ยังไม่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือกระบวนการแก้ปัญหาเกิดขึ้น


          3. ความขัดแย้งที่ปรากฏออกมาแล้ว (Manifest Conflicts): ระยะนี้เป็นระยะที่ความขัดแย้งได้พัฒนาไปเป็นข้อพิพาทที่ชัดเจน มีการดำเนินการตามบทบาทที่ตัวเองเกี่ยวข้อง รวมถึงอาจมีการเจรจาไกล่เกลี่ย หรืออาจถึงทางตันหาทางออกไม่ได้


          ส่วนรูปแบบของความขัดแย้งนั้นจะสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่


          1. ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict): เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมีข้อมูลมาหรือน้อยเกินไปทำให้การประมวลผลมีความผิดพลาด มีการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันในปัญหาเรื่องเดียวกัน สุดท้ายแล้วก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง


          2. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict): การมีทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำกัดบนโลกนี้ล้วนแต่ส่งผลให้ ต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะครอบครองผลประโยชน์ต่าง ๆ ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผลประโยชน์


          3. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict): ความขัดแย้งประเภทนี้เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ การใช้อำนาจ การแย่งชิงอำนาจ การกระจายอำนาจ และรวมไปถึง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ


          4. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict): เป็นความขัดแย้งที่เกิดจาก อารมณ์ ความรุนแรง และพฤติกรรมต่าง ๆ อันนำมาซึ่งความเข้าใจผิด โดยปัญหาหลักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการสื่อสารที่บกพร่อง


          5. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict): ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจาก ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติ ที่แต่ละคนได้รับการหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กจนเป็นผู้ใหญ่



ชนิดของความขัดแย้ง
สาเหตุ

ตัวอย่าง
1. ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict)- ขาดข้อมูล
- ข้อมูลผิดพลาด
- มุมมองที่ต่างกันว่าข้อมูลจะเป็นอะไร
- การแปลผลข้อมูลที่แตกต่างของการเก็บและศึกษาข้อมูล
- ท่อก๊าซมีความหนาแน่นไม่เท่ากันและที่ต้องหนากว่าในเขตชุมชนเมือง เพราะถ้าก๊าซรั่วคนตายมาก (ซึ่งเป็นข้อมูลที่อธิบายไม่ถูกต้อง)
- ปะการังที่บริเวณหินกรูดยังมีสภาพดีหรือเสื่อมโทรมไปแล้ว
2. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict)- เนื้อหา (เงินทองทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมเวลา)
- วิธีการ (ปัญหาด้านกริยามรรยาทถูกนำมาพูดถกเถียง)
- เกี่ยวกับจิตใจ (มุมมองในความเชื่อ ความยุติธรรม หรือความนับถือ)
- ผู้นำเสนอโครงการน่าจะสร้างสะพานเพื่อประโยชน์ทางด้านสังคม
- ผู้เสนอได้ทำการปรึกษาหารืออย่างรอบคอบทั่งถึงหรือไม่
- เรารู้สึกว่าเราเพียงต้องการขอโทษต่อสาธารณชนเท่านั้นเพื่อเราจะได้หยุดประท้วง
3. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict)- ทรัพยากรที่หายาก
- เวลา
- ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
- อำนาจ/หน้าที่
- การตัดสินใจ
- การกระจายอำนาจกับการสงวนอำนาจ
- กฎหมายป่าชุมชนกับกฎหมายป่าสงวน
4. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict)- อารมณ์ที่รุนแรง
- การรับรู้คลาดเคลื่อน
- ทัศนคติตายตัว
- การสื่อสารไม่ดี
- การสื่อสารผิดพลาด
- ความประพฤติเชิงลบซ้ำซาก
-เดี๋ยวนี้ หมอมองอะไร พูดอะไร เป็นเงินทองไปหมด (ความสัมพันธ์ ชิงธุรกิจ)
- ฉันเลือกเขาเป็น ส.ส.ก็หวังพึ่งพาอาศัย แต่พอไปหาที่บ้านเห็นแต่ป้าย “สุนัขดุ”
5. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict)- ความเชื่อที่ไม่ลงลอยกันไม่ว่าจะเป็นภาพจริงหรือภาพจากการรับรู้
- ระบบค่านิยมที่แตกต่างกัน
- ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการทำแท้งเป็นการทำผิดบัญชาของพระเจ้า อีกฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำได้เพราะเป็นสิทธิสตรี
- ไม่ควรทำเหมืองใต้ดินเพราะอาจเกิดเหตุเหมือนเรื่องผาแดงนางไอ่


รูปที่ 1.1 แสดงถึงชนิดของความขัดแย้ง
ที่มา: ดัดแปลงจากหนังสือ “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา”, ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 14-15




          ในปัจจุบันความขัดแย้งในสังคม นั้นส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามในการที่จะพัฒนารัฐ ให้มีความเจริญให้มีความทันสมัย (Modernization) ทำให้ส่งผลกระทบกลับมายังสังคม สิ่งแวดล้อมประชากร จนเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นความขัดแย้งในนโยบายสารธารณะจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งต่อไปนี้
(Modernization)


          1. ความสลับซับซ้อนในการพัฒนา: การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งตามธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในปริมาณที่มากตาม ความซับซ้อนในการพัฒนาจึงมากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่าง ๆ จึงมีความขัดแย้งกับผู้ที่พัฒนาหรือออกนโยบาย


          2. การบริหารจัดการรูปแบบเดิมที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ : แนวความคิดในการบริหารงาน หรือบริหารประเทศ ทั่วไปในปัจจุบันมักจะกระทำในรูปแบบเดิม ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โดยมีลักษณะที่ผู้มีอำนาจในการสั่งการเป็นผู้ที่พัฒนากระบวนการในการตัดสินใจ แล้วสั่งการลงไปยังผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดจากบนล่าง ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้ง


          3. ข้อมูลข่าวสารที่มากมายแลรวดเร็ว: ในยุคสารสนเทศที่การบริการและการเข้าถึงอย่างมากมายและรวดเร็วทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างหลากหลาย และใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา


          4. กระบวนทัศน์ของประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลง: นวัตกรรมทางเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปด้วความง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงระบอบการเมือง โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ซึ่งแต่เดิมนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะเป็นระบอบการปกครองที่เน้นหรือมีวัตถุประสงค์ที่เน้นในเสียงส่วนใหญ่  (Majority Rule) ที่เลือกสมาชิกของสังคมขึ้นเป็นตัวแทน แล้วให้ตัวแทนเหล่านั้นตัดสินใจแทน แต่ในปัจจุบันเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนส่วนน้อย (Minority Rights) โดยสิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อคนส่วนน้อยรัฐในฐานะผู้ที่ใช้อำนาจจะต้องระมัดระวัง และสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุเช่นนี้เอง ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่เกิดตามมา เพราะความไม่ลงตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม


          5. การใช้แนวความคิดในเรื่องของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรและการจัดการลูกค้าสัมพันธ์: ในแนวความคิดของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร (Integrated Communication Marketing: IMC) นั้นเป็นแนวความคิดของการตลาดใหม่ที่เน้นการโฆษณาผ่านสื่อทุกประเภทโดยมีความสอดคล้องกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความคล้อยตาม และผู้ขายจะเน้นแต่ด้านบวกของผลิตภัณฑ์ตนเอง ประกอบการการเน้นในเรื่องของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management: CRM) ทำให้ลูกค้ามีสิทธิ์มีเสียงในการต่อรองกับผู้ขายและผู้ผลิต ผลที่ตามมาคือ เมื่อลูกค้าเจอสินค้าและบริการในด้านลบ หรือ สินค้าและบริการนั้นไม่เป็นไปตามที่โฆษณาแล้วก็จะเกิดการร้องเรียน อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง


         6. การบังคับใช้กฎหมาย: ปัญหาช่องว่างในสังคม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือที่ปัจจุบันเรานิยมเรียกว่าคอร์รัปชั่น นั้นส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในสังคม


          จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้นส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะเป็น “ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง” (Structural Conflict) โดย ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (อ้างถึงใน “ความขัดแย้ง… หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา”, ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, สถาบันพระปกเกล้า, 2547 หน้า 24-25) ได้กล่าวถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่า “เป็นเรื่องของช่องว่าระหว่างสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหรือศักยภาพของมนุษย์ (Potentiality) และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Actuality) ซึ่งยิ่งห่างก็จะยิ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากขึ้นเท่านั้น


          ปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองมีความร้อนแรง จนสามารถกล่าวได้ว่าสังคมกำลังมีความขัดแข้ง ซึ่งความขัดแย้งนี้สามารถนำไปสู่การพิพาท ที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง โดยมีความขัดแย้งสองประเภทหลักผสมผสานกันคือ ความขัดแย้งด้านโครงสร้างและความขัดแย้งจากผลประโยชน์ การดำเนินการต่าง ๆ ของผู้แสดงแต่ละท่าน (Actor) ที่เกี่ยวข้องล้วนแต่มีส่วนทำให้สถานการณ์คลี่คลายหรือแตกหัก การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นกลางและรากหญ้าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยจะได้ผลกระทบและเป็นรอยร้าวในสังคมที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการสมานฉันท์ ให้กลับมาเป็นดังเดิม ความเสียสละของผู้แสดงแต่ละท่านล้วนแต่จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม แต่ถ้าผู้แสดงแต่ละท่านไม่ยอมลดราวาศอกให้กันแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีของให้ท่าน ๆ ทั้งหลายเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งมากว่าผลปรโยชน์ของตนและพวกพ้อง
ความหลากหลาย-DIVERSITY


ความหมายของชาติพันธุ์
คำว่า "ชาติพันธุ์" และ "ชาติพันธุ์วิทยา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทยการทำความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์จำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติ อาจเปรียบเทียบเชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ได้ดังนี้
เชื้อชาติ (race) คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่ม เชื้อชาติ (racial group) มักแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid) โพลินีเชียน (Polynesian) ฯลฯ อีกด้วย
การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกันและประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก
สัญชาติ (nationality) คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึงการเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง
ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos) คือ การมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีนลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมมีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกันความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า "สำนึก" ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์
ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ จะส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้ถ้าเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ พอจะสรุปได้ 5 ลักษณะ คือ
1. เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น
ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้นและคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุด จะถือเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น จัณฑาลในอินเดีย เอทาหรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมระบุว่าเป็นคนชนชั้นต่ำ ถือว่าเป็นผู้ที่น่ารังเกียจและไม่ควรอยู่ร่วมสังคมกับสมาชิกส่วนใหญ่ ได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมนั้น เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบัน ทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกชนชั้นจัณฑาลและบูราคู แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการกีดกันอยู่ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนี้ ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทางชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง
2. เกิดจากการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์
กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่นชาวเขา มักจะถูกตัดขาดจากสังคมพื้นราบ โดยไม่ได้รับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากคนพื้นราบในส่วนกลาง การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอาจทำให้มีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับรัฐบาลไทยจึงไม่ค่อยมีปัญหา
3. เกิดจากการผนวกดินแดน
การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือเกิดจากการขยายดินแดงหลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญา เรียกว่า "Louisiana Purchase" ในปี ค.ศ. ๑๘๐๓ หรือการที่สหรัฐอเมริกาซื้อดินแดนซึ่งปัจจุบันคือรัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้านและฝ่ายที่ชนะสามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้น คือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย ทวาราวดีศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้
4. เกิดจากการย้ายถิ่น
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ
5. เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศอาณานิคม มีลักษณะแตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ กรณี ทั้งนี้ เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจในการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆนานา ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจประเทศมหาอำนาจมักจะจับจองที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองไปเป็นกรรมกรในไร่นา มีผลทำให้คนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมได้ อย่างกรณีประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินเกือบร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ ๕ เท่านั้น

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: cultural diversity) เป็นความเชื่อที่ค่อนตรงกันให้หมู่นักมานุษยวิทยาว่ามนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 2 ล้านมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน
แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิดขึ้นตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวลมนุษยชาติด้วย นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้
บทอภิปรายนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ประการแรก เช่นเดียวกับความน่าเชื่อของการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ยังคงเป็นสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการทดสอบซึ่งอาจไม่มีความชอบธรรมทางจรรยาบรรณที่จะอนุรักษ์ "สังคมที่ยังพัฒนาน้อย" ไว้เพราะอาจเป็นการห้ามผู้คนในสังคมนั้นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ที่สร้างความสะดวกสบายและสวัสดิภาพแก่ "สังคมพัฒนาแล้ว" ประการสุดท้าย มีชนหลายหมู่โดยเฉพาะที่หมู่ชนมีความเชื่อทางศาสนาอย่างแรงกล้า ที่เชื่อว่าศาสนานั้นคือสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตัวบุคคลและมวลมนุษย์โดยรวม ดังนั้นจึงควรมุ่งติดอยู่กับรูปแบบการดำรงชีวิตเพียงแบบเดียวที่หมู่ชนนั้นๆ เห็นว่าถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การสอนศาสนา "ฟันดาเมนทอลลิสต์อีแวนเจลิสต์" เช่น "นิวไทรบ์มิสชัน" ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยการเลือกสังคมชนเผ่าที่อยู่ห่างไกล จับพวกชนเผ่าเหล่านั้นเข้ารีตกับความเชื่อของพวกเขาเองแล้วโน้มนำให้ชนเผ่าเหล่านั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมของตนเองตามหลักการของพวกเขาเอง
การแจงนับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตัวบ่งชี้ที่นับได้ว่าใช้ได้ดีตัวหนึ่งคือการนับจำนวนภาษาที่ใช้พูดในภูมิภาคนั้น หรือในโลกโดยรวม วิธีการนี้ จะช่วยให้มองเห็นระยะของการถดถอยที่รวดเร็วขึ้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก งานวิจัยที่ทำเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2524-2533) โดยเดวิด คริสทัล (ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ บังกอร์) เสนอแนะในขณะนั้นว่า โดยเฉลี่ยในทุกสองสัปดาห์จะมีภาษาหนึ่งภาษาที่ถูกเลิกใช้ไป คริสทัลคำนวณว่า ถ้าการตายของภาษาอยู่ในอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึง พ.ศ. 2643 ภาษาที่ใช้พูดในโลกปัจจุบันจะสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 90
ประชากรที่มากเกินไป การย้ายถิ่นและจักรวรรดินิยม (ทั้งทางการทหารและเชิงวัฒนธรรม) คือสาเหตุที่นำมาใช้อธิบายการลดถอยของจำนวนภาษาดังกล่าว
มีองค์การนานาชาติหลายองค์การที่กำลังพยายามทำงานเพื่อปกป้องการคุกคามดังกล่าวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงหน่วยงาน "สืบชีวิตนานาชาติ" (Survival International) และยูเนสโกได้ออก "ประกาศสากลยูเนสโกว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) โดยได้รับการยอมรับโดยประเทศสมาชิก 185 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ยอมรับให้มีการกำหนดมาตรฐานนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพิทักษ์รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทโต้ตอบระหว่างวัฒนธรรม
สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายแห่งความป็นเลิศ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่มีความหลากหลาย" (Sustainable Development in a Diverse World -SUS.DIV) SUS.DIV สร้างขึ้นด้วยประกาศยูเนสโกที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาแบบยั่งยืน

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีโดยเสมอภาคกัน เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่าง มีศักดิ์ศรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิดและเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ
        สิทธิมนุษยชน หมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า มนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากล ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ
        จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"[1]
        ความดำรงอยู่ ความถูกต้อง และเนื้อหาของสิทธิมนุษยชน เป็นหัวข้อที่เป็นที่โต้เถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางปรัชญาและรัฐศาสตร์ ตามกฎหมายแล้ว สิทธิมนุษยชนได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ และในกฎหมายภายในของหลายรัฐ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนมากแล้ว หลักการของสิทธิมนุษยชนนั้นกินขอบเขตเลยไปกว่ากฎหมาย และก่อร่างขึ้นเป็นหลักศีลธรรมพื้นฐานสำหรับวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองร่วมสมัย สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว สิทธิมนุษยชนคือความเสมอภาคในอุดมคติ

 สิทธิมนุษยชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ในฐานะ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิ-มนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเงื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิก ที่ร่วมองค์กรและสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง, การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น

 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีสาระสำคัญเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ และ มาตรา ๒๐๐ บังคับไว้ในส่วนที่ ๘ ที่ว่าด้วย “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๑ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา ๒๕๖ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงาน ที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๕๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
(๒) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
(๔) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจาก ผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๕) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และ กฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๖) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
(๗) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
(๘) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
(๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

สิทธิมนุษยชน คือ

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๓๔ (๑) กำหนดบังคับไว้ให้ออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายมารองรับ เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

(๑) มาตรา ๓ ให้คำจำกัดความว่า “สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
        ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือแนวคิดอื่น ๆ เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ เช่น คนเราทุกคนมีสิทธิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๖)
        คนเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกันหมดทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๑)
        รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรอง กำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน ได้แก่
(๒) มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”
(๓) มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ”
(๔) มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

 สิทธิมนุษยชนกับทหาร

        ทหารจำเป็นต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าระงับการชุมนุมระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ รับทราบรายงานของคณะกรรมการกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบตามข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการ ฯ โดยมีมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม คือ
        ข้อ ๓ รับไปดำเนินการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการแสดงออกอย่างเสรีในหลักสูตรการศึกษาทุกแขนง โดยเฉพาะการบรรจุวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในหลักสูตรวิชาทางทหาร ตำรวจ และนักปกครองระดับต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ตามมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว มีคุณสมบัติดังนี้

        มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ประธานคณะกรรมการ
๑. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
๔. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง
๕. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๖. ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
๗. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
๘. ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล
๙. ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๑๐. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจากหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑๑. ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
๑๒. ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๑๓. ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

         มาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการต้อง
(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
        เมื่อวุฒิสภาเลือกบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยได้รับความ ยินยอมของผู้นั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการสรรหาและเลือกกรรมการใหม่แทน
        เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ “โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และผู้แทนขององค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ( ม.๕ ) โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและดำรง ตำแหน่งเพียงวาระเดียว (ม.๑๐ ว.๑)

การดำเนินงานของคณะกรรมการ

๑. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดี อยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว (ม.๒๒)
๒. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการโดยผู้นั้นเอง หรือผู้ทำการแทน แจ้งการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยการร้องเรียนด้วยวาจาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กระทำได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด (ม.๒๓)
๓. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องต่อองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อองค์การเอกชนพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลก็อาจเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป (ม.๒๔)
๔. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้เหมือนคดีทั่วไป ตามแต่สิทธิที่ถูกลิดรอน เช่น ทางร่างกายก็ฟ้องต่อศาลอาญา ทางลิขสิทธิ์ก็นำคดีสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เป็นต้น
โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิด เพียงแต่แจ้งให้ผู้กระทำละเมิดได้ทราบว่าสิ่งที่กระทำนั้นละเมิดต่อผู้อื่น

ความเข้าใจเบื้องต้นในสิทธิมนุษยชน

        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากล และได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว
        ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
        ข้อ 2บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใด ๆ เช่นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด
        นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกสารอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด         ข้อ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและความมั่นคงแห่งร่างกาย
        ข้อ 4 บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใด ๆ มิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ
        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น จะกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่กล่าวไว้ในหลักการในการประกาศปฏิญญาสากล และปฏิญญากลในข้อ 1- ข้อ 4 เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข
        สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมนั้นมีที่มาจากการเคารพซึ่งกันและกัน การใช้สิทธินั้น เราใช้ได้เท่าที่ไม่ไปละเมิดในสิทธิของผู้อื่น เช่น เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต
        สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ของศักดิ์และสิทธิ์ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว อายุ ศาสนา ภาษา และสถานภาพ ทางกายภาพและสุขภาพ รวมทั้งความเชื่อทางสังคม การเมือง ชาติกำเนิดเหล่านี้ คือสิทธิที่มีมาแต่กำนิด ไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น
        สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะอารยธรรมโลก นับเป็นความฉลาดของมนุษย์ที่พยายามวางระบบคิดเพื่อให้คนทั้งโลกเกิดความตระหนักรู้และคิดคำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นับแต่ขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด รวมทั้งระบบสิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิโดยกำเนิด สิทธิตั้งแต่เกิด การให้ความสำคัญกับคำว่า ชีวิต ว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายล้วนต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น นับแต่ปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วยอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม การดำรงเผ่าพันธุ์ การมีชีวิตรอด ฯลฯ ความต้องการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญกับชีวิตเป็นที่สุด และเหมือนกันทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสิทธิดังกล่าวหากเป็นความชอบธรรมของมนุษย์ก็คือ สิทธิมนุษยชน ทั้ง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม มนุษย์กับธรรมชาติ และแม้แต่กับสัตว์ การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอยู่เสมอ เหล่านี้นับเป็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่สังคมโลกต่างให้ความตระหนัก การคำนึงถึงสิทธิดังกล่าว จะถือเป็นบันไดก้าวไปสู่ความยุติธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
 สรุป
        รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น โดยให้มีหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายไทย หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาและภาษาอะไร มีสถานภาพทางกายหรือฐานะใด หากบุคคลอยู่ในพื้นที่ที่ใช้รัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตลอดจนการตรากฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายอาจมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หากถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีได้

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพึ่งพาอาศัยกัน



ชีวิตทุกชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยตัวมันเอง แต่ทว่าต้องพึ่งพาอาศัย องค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่ช่วยค้ำจุน เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างปรกติสุข

ถ้ามนุษย์ไม่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญขององค์ประกอบทั้งหลาย ที่มีส่วนช่วยค้ำจุน การดำรงอยู่ ของชีวิต และไม่ปฏิบัติ ต่อองค์ประกอบเหล่านั้นอย่างรู้คุณค่า หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ปฏิบัติอย่างมี ความกตัญญูรู้คุณ สักวันหนึ่ง ชีวิตของมนุษย์ก็จะต้อง ประสบกับปัญหา ความเดือดร้อน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะการกระทำที่ไปทำลาย องค์ประกอบซึ่งช่วยค้ำจุน ชีวิตดังกล่าว

เราอาจแบ่งองค์ประกอบของสิ่งที่ช่วยค้ำจุนชีวิต ซึ่งพึงจักต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น อย่างรู้คุณค่า หรืออย่างมีความกตัญญุรู้คุณ ได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑. ความกตัญญูรู้คุณต่อสถาบันครอบครัวญาติมิตร

ในวัฒนธรรมของชาวตะวันออก มีการสอนกันมากถึงเรื่องความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา และ ผู้มีพระคุณ ตัวอย่างเช่น ชาวจีนที่บันทึกเรื่องราวบุคคลที่ถือเป็น ๒๔ ยอดกตัญญูสำหรับ เป็นแบบอย่าง ไว้สอนลูกหลาน เป็นต้น

อันที่จริง แม้แต่บุคคลที่เรารู้จักคุ้นเคย ก็เป็นกลุ่มคนที่เราต้องพึ่งอาศัยเวลาที่มีปัญหา ความเดือดร้อน ต่างๆ เช่นกัน นอกเหนือจาก การพึ่ง พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด

เราอาจเรียกองค์ประกอบของคนรู้จักคุ้น-เคยที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตส่วนนี้โดยรวมๆ ว่า เป็นสถาบัน ครอบครัว และญาติมิตร ซึ่งถ้าสถาบันส่วนนี้ถูกละเลย ผู้คนไม่รู้คุณค่า และ ปฏิบัติต่อ สถาบัน ดังกล่าวอย่าง "อกตัญญูไม่รู้คุณ"

เช่น ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกในครอบครัวและญาติมิตรที่เคยให้ความเอื้ออาทรต่อเรา อันเป็น การปฏิบัติ ต่อคนเหล่านั้น อย่างไม่กตัญญูรู้คุณ ต่อไปเมื่อเรามีปัญหาความเดือดร้อนอะไร ก็คงจะหวังพึ่งพิงสมาชิก ในครอบครัว และญาติมิตรเหล่านั้นได้ยาก เป็นต้น

หากผู้คนในสังคมต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ต่างคนต่างอยู่แบบตัวใครตัวมัน ปราศจาก การช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน แม้แต่กับสมาชิก ในครอบครัว และญาติมิตรคนรู้จัก ก็ยังพึ่งพา อาศัยกันไม่ได้

สังคมที่ผู้คนมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง เห็นแก่ตัวจัดเช่นนี้ จะเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข ได้อย่างไร

๒. ความกตัญญูรู้คุณต่อสังคมประเทศชาติ

มีผู้กล่าวว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" เพราะมีธรรมชาติที่มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็น ระบบสังคม เพื่อช่วยกัน หาอาหาร และต่อสู้กับภัยต่างๆ ที่มาคุกคาม

เมื่อประชากรของมนุษย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในการผลิต ด้วยการแบ่งงาน กันทำ ตามความถนัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีอาหารและปัจจัย ๔ เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ตลอดจน ความจำเป็น ที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน ตนเอง จากมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ที่จะมาแย่งแหล่ง ทำกินของเรา ส่งผลให้เกิดแนวโน้ม ที่สังคม มนุษย์ จะขยายตัวใหญ่ขึ้น และมีการจัดระเบียบ การอยู่ร่วมกัน จนเกิดเป็นชนชาติ หรือ ประเทศชาติ ต่างๆ ที่ยึดโยงกัน ด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งระบบกฎหมาย และสถาบัน อำนาจรัฐที่ชนชาตินั้นๆ พัฒนาขึ้น

โดยชาติที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่า ก็มีแนวโน้มจะเข้าไปยึดครองและกลืนชนชาติที่อ่อนแอกว่า เข้าเป็นส่วนหนึ่ง ภายใต้อำนาจของตน เพื่อเพิ่มศักยภาพของพลังทางการผลิต และศักยภาพ ของกำลัง ในการปกป้องตนเอง ให้มากขึ้นๆ ถึงแม้สถาบันสังคมประเทศชาติ จะมีขนาดที่ ใหญ่มาก จนเราไม่มีทางรู้จัก ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ประเทศชาติหนึ่งๆ เป็นการส่วนตัว แตกต่าง จากสถาบันครอบครัวญาติมิตรที่เรารู้จักคุ้นเคย แต่มนุษย์ก็ต้องพึ่งพา สังคม ประเทศชาติ เพื่อความดำรงอยู่ของชีวิตเช่นกัน

ถ้าสมาชิกในสังคมหรือประเทศชาติหนึ่งๆ ไม่รู้คุณค่า และประพฤติปฏิบัติต่อสังคม หรือ ประเทศชาติของตน อย่างอกตัญญู ไม่รู้คุณ ขายชาติขายแผ่นดิน

เมื่อสังคมประเทศชาตินั้นๆ ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ สมาชิกของสังคมประเทศชาติดังกล่าว ก็ต้องประสบ ความทุกข์ยาก ลำบากด้วย

อาทิ หากต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น ทรัพยากรและความมั่งคั่งที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิต ให้อยู่อย่าง สุขสบาย ก็จะถูกปล้นชิง ไปเลี้ยงดูชนชาติอื่น ที่มายึดครองนั้น จนผู้คนต้องอยู่กัน อย่างอดอยาก ขาดแคลน เป็นต้น

การกระทำใดๆ ในทิศทางที่มีส่วนบ่อนทำลายสังคมประเทศชาติของตนให้เกิดความอ่อนแอ จึงถือได้ว่า เป็นความไม่กตัญญูรู้คุณ ซึ่งจะส่งผลเสียกระทบกลับมาสร้างปัญหา ความบีบคั้น ให้กับเราได้ในภายหลัง

เพราะถ้าสังคมประเทศชาตินั้นๆ ประสบภาวะวิกฤต อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของสังคม มีอาชญากรรม ชุกชุม ล้าหลัง ด้อยพัฒนา เต็มไปด้วยอบายมุขสิ่งเสพติด ผู้คนตกงาน ด้วยสติ ปัญญาความรู้ จริยธรรม เสื่อมถอย ฯลฯ

เราหรือบุตรหลานของเรา ที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมประเทศชาตินั้นๆ จะสามารถมีชีวิต อย่างปรกติสุข ต่อไปได้อย่างไร ในท่ามกลางสังคมที่ถูกบ่อนทำลายดังกล่าว ต่อให้ถึงจะมีเงิน มากมาย สามารถจ้างผู้คน คุ้มกันเรา และบุตรหลานเวลาไปไหนมาไหน ให้ปลอดภัย จากโจร ผู้ร้าย แต่ชีวิตเช่นนั้นก็หมดอิสรภาพ ที่เคยมี และเพิ่ม ต้นทุน ความเสี่ยงมากขึ้น จนชีวิตยากที่จะดำรงอย่างมีความสุข

๓. ความกตัญญูรู้คุณต่อธรรมชาติที่หล่อ-เลี้ยงชีวิต

ถ้ามีภัยพิบัติในธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อน หรือหนาวผิดปรกติ พายุพัดผ่าน แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า หรือแม้แต่อุกาบาตชนโลก ฯลฯ ชีวิตทุกชีวิต ที่อาศัยดำรงอยู่บนโลกนี้ ย่อมจะได้รับ ผลกระทบ อย่างใหญ่หลวง

ในอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้น นอกเหนือจากการสร้างระเบียบแบบแผนของวิถีการ ดำเนินชีวิต ที่ปลูกฝัง ให้ผู้คนตระหนัก ถึงคุณค่า และมีความกตัญญูรู้คุณค่าต่อสถาบัน ครอบครัว ญาติมิตร ตลอดจนสังคม ประเทศชาติแล้ว ก็ยังปลูกฝังให้มีความกตัญญูรู้ คุณต่อธรรมชาติที่หล่อเลี้ยง ชีวิตมนุษย์ด้วย

ศาสนาหรือลัทธิความคิดความเชื่อที่เป็น เสาหลักค้ำจุนอารยธรรมแต่ละอารยธรรมที่มนุษย์ พัฒนาขึ้น ก็คือ โครงสร้างสำคัญ ส่วนที่กระทำหน้าที่ปลูกฝังให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่า และมีความกตัญญูรู้คุณ ต่อสถาบัน ครอบครัว ญาติมิตร สถาบันสังคมประเทศชาติ รวมทั้งต่อธรรมชาติที่หล่อเลี้ยง ชีวิตมนุษย์โดยรวม

ศาสนาส่วนใหญ่ที่เป็นศาสนาแบบเทวนิยม จะเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือเทพองค์ต่างๆ เป็นผู้ควบคุม อยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย และเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณ ต่อพระเจ้า หรือเทพเหล่านั้น ที่ช่วยบันดาล ให้ธรรมชาติ ดำเนินไปอย่างปรกติ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่เกิด ภัยพิบัติที่คุกคามชีวิตมนุษย์ ก็จะต้องมี การประกอบ พิธีกรรม ทางศาสนาต่างๆ รวมทั้ง การประพฤติ ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนานั้นๆ เป็นการตอบแทน พระเจ้า หรือเทพ ที่ตนเคารพนับถือ

ความเชื่อในศาสนาแบบเทวนิยมเหล่านี้ จะช่วยยึดโยงให้มนุษย์ปฏิบัติต่อธรรมชาติที่หล่อเลี้ยง ชีวิตอย่างมี ความกตัญญู รู้คุณมากขึ้น

เช่น ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเกินกว่าความจำเป็นที่ต้องใช้สอย เพราะเชื่อว่ามีเจ้าป่าเจ้าเขาคอยดูแล ป่าไม้อยู่ ไม่ทำให้ แม่น้ำลำคลอง สกปรกปนเปื้อนด้วยมลภาวะ เพราะเชื่อว่าเป็นการแสดง ความไม่เคารพต่อ เจ้าแม่คงคา ไม่บริโภค ฟุ้งเฟ้อเกินความพอดี ด้วยความโลภโมโทสัน จนก่อให้เกิดการทำลายธรรมชาติเกินประมาณ หรือไม่แสดง ความอกตัญญ ูต่อบิดามารดา ประเทศชาติ ศาสนา ฯลฯ เพราะเชื่อว่านั่นเป็นพฤติกรรม ที่ขัดต่อพระประสงค์ ของพระเจ้า ตามหลักคำสอนในศาสนานั้นๆ เป็นต้น

เมื่อความเชื่อทางศาสนาในอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์มีส่วนช่วยควบคุมความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น ในชีวิต ไม่ให้มนุษย์เบียดเบียน ทำลายธรรมชาติเกินขอบเขตในทางใดทางหนึ่ง ผลที่สุดสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งดำรงอย่าง มีดุลยภาพนั้น ก็จะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

ถึงแม้ศาสนาพุทธจะไม่ใช่ศาสนาแบบเทวนิยม ที่สอนให้มนุษย์มีความกตัญญูรู้คุณ ต่อธรรมชาติ ทั้งหลาย ที่หล่อเลี้ยง ชีวิตมนุษย์ ผ่านทางความเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือ เทพองค์ต่างๆ คอยควบคุมปรากฏการณ์ ทั้งหลาย ในธรรมชาติ

โดยถ้าหากมนุษย์ไม่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือเทพเหล่านั้น ในทิศทาง ที่เสริมสร้าง ให้มนุษย์ปฏิบัติต่อ องค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยค้ำจุนชีวิตดังกล่าว อย่างรู้คุณค่า หรือมีความกตัญญูรู้คุณแล้ว มนุษย์ก็จะประสบภัยพิบัติ นานาประการ เพราะความพิโรธ ของพระเจ้าหรือเทพองค์นั้นๆ

แต่ศาสนาพุทธก็สอนให้มนุษย์เข้าใจกฎธรรมชาติหรือกฎธรรมนิยาม ที่ควบคุมปรากฏการณ์ ทั้งหลายในเอกภพ และ ปฏิบัติต่อองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยค้ำจุนการดำรงอยู่ ของชีวิต อย่างเหมาะสมถูกต้องเช่นกัน

โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้ามนุษย์สร้างอกุศลกรรมประการต่างๆ อันเป็นการประพฤติปฏิบัติต่อครอบครัว ญาติมิตร สังคมประเทศชาติ ตลอดจนปฏิบัติต่อธรรมชาติ หรือ"ธรรมะ" อย่างไม่ถูกต้อง ผลที่สุดอกุศลกรรมนั้นๆ ก็จะส่งผลกระทบ กลับมาเป็นอกุศลวิบาก ที่จะทำให้มนุษย์ประสบ ความทุกข์ยากลำบาก ทางใดทางหนึ่ง ในภายหลัง

รวมทั้งสอนให้มนุษย์เข้าใจกฎธรรมชาติใน มิติที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น จนรู้จักวิธีควบคุมธรรมชาติ ผ่านทางมิติ ของจิต ที่เป็นธาตุรู้ ภายใต้โครงร่างของเอกภาพ ๕ มิติที่มนุษย์รับรู้

ซึ่งประกอบอวกาศ ๓ มิติ ที่หลอมรวมเข้ากับมิติที่ ๔ ของกาลเวลา อันประกอบกันเป็นมิติของ สิ่งที่ถูกรู้ (หรือรูป) และ หลอมรวมเข้ากับมิติที่ ๕ ของจิตที่เป็น "ธาตุรู้" (หรือนาม) อีกทีหนึ่ง ตามกฎปฏิจจสมุปบาท ในพุทธปรัชญา ศาสนาพุทธ จึงเป็นศาสนาที่สอนให้มนุษย์ เข้าใจคุณค่า ขององค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติที่ช่วยค้ำจุน การดำรงอยู่ ของชีวิต ทั้งในแง่ อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการปรุงแต่งของโลกทางวัตถุธรรม) พีชนิยาม (กฎธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับ การปรุงแต่งของโลกทางชีววิทยา) กรรมนิยาม (กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการปรุงแต่ง ของพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ) จิตตนิยาม (กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการปรุงแต่งของจิต) และธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับ การปรุงแต่ง ของธรรมชาติทั้งหมดโดยองค์รวม)

ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ครอบงำความคิดของมนุษย์ และผู้คนมีความเชื่อต่อพระเจ้าหรือ เทพต่างๆ ในศาสนาแบบเทวนิยม ลดน้อยลงเช่นนี้ ศาสนาที่สอนให้เข้าใจกฎธรรมชาติโดยตรง หรือ "กฎธรรมนิยาม" อย่างเช่น พุทธศาสนา จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้อารยธรรมของมนุษย์ อยู่รอด เพราะจะช่วยให้มนุษย์ ตระหนักถึง การประพฤติปฏิบัติต่อธรรมชาติในมิติต่างๆ อย่างรู้คุณค่า หรืออย่างมีความกตัญญูรู้คุณ ที่ประกอบด้วย ปัญญาอันลึกซึ้ง เพื่อองค์ประกอบ ของธรรมชาติเหล่านั้น จะได้ช่วยค้ำจุน ให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอย่างอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๒ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๗ -